เกร็ดความรู้ Previous item [:en]Toy... Next item ...

เกร็ดความรู้

th_whatsnew_play

Products_308 การเล่นเป็นส่วนสำคัญของชีวิตวัยเด็ก การเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กเริ่มต้นจากการได้เล่น งานวิจัยทางการแพทย์ยืนยันว่าการเล่นมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมอง โดยการเล่นจะกระตุ้นให้มีการเพิ่มขึ้นของการส่งสัญญาณประสาทและเพิ่มการประสานงานระหว่างเซลล์สมองกับการทำงานของร่างกายได้ดีขึ้น การเล่นเป็นกระบวนการการเรียนรู้อย่างมีความสุข เป็นคุณค่าที่สำคัญที่จะทำให้เด็กได้เติบโตขึ้นอย่างมีวุฒิภาวะที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย และจิตใจ การเล่นยังสร้างสรรค์จินตนาการและสานต่อแรงบันดาลใจเมื่อเขาโตขึ้นด้วย หลายครั้งที่การเล่นในวัยเด็กมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการเลือกอาชีพของเด็กในอนาคต เมื่อได้เล่น เด็กจะได้ลงมือทำ ได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ ได้ใช้ความคิด และเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งเด็กอาจจะได้พบกับความท้าทาย ความเสี่ยง และพบเจอกับอุปสรรคบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นโอกาสที่เด็กจะได้เรียนรู้ ตัดสินใจ แก้ไขปัญหากับอุปสรรคที่เจอ ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะและพัฒนาการให้แก่เด็กทั้งทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจและสติปัญญา

การเล่นนอกจากจะสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่างๆ ให้กับเด็กได้อย่างดีในหลายๆ ด้านแบบนี้
ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านร่างกาย : ขณะที่เด็กๆ วิ่งเล่น ปีนป่ายไปทั่ว ทั้งขี่ม้าโยก ปั่นจักรยาน หรือโยนลูกบอล จะทำให้ร่างกายของเด็กแข็งแรง เพราะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ไม่ว่าจะเป็น แขน ขา กล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนไหว การทรงตัว มีพัฒนาการที่สมบูรณ์มากขึ้น ส่วนกล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างกล้ามเนื้อมือ ก็จะพัฒนาได้ดีถ้าให้เด็กได้เล่นต่อบล็อก ร้อยลูกปัด วาดรูป ระบายสี หรือขยับมือบ่อยๆ และนอกจากนี้การเล่นยังช่วยทำให้มือและสายตาทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของสมองและสติปัญญา : เวลาที่เด็กๆ ได้เล่น จะเป็นช่วงเวลาที่เซลล์สมองมีการเชื่อมโยงเข้าหากันมากขึ้น ถ้ามีการเชื่อมโยงกันมากและหนาแน่น สติปัญญาของเด็กในด้านต่างๆ ก็จะพัฒนามากขึ้นตามไปด้วย ทั้งในเรื่องของจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ การรู้จักการสรุปความคิด การแก้ปัญหา รู้จักลองผิดลองถูก การทดลองเพื่อหาวิธีเล่นที่สนุกที่สุด การเล่นทำให้กระบวนการเรียนรู้ของเด็กซึบซับได้ดีที่สุด เพราะเป็นการทำให้เด็กได้รู้จักเรียนรู้ด้วยตัวเอง ได้เรียนรู้จากการสัมผัสกับสิ่งที่ตัวเองเล่น เด็กจะได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 มาทำงานผสานกัน ทำให้สามารถเรียนรู้ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ การเล่นจะทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมากมาย เช่น เรื่องสี รูปทรง ตำแหน่ง จำนวน หรือเรื่องราวที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต หรือเป็นพื้นฐานในการเรียนวิชาต่างๆ ในตอนที่เติบโตขึ้น
ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านอารมณ์ : การเล่นไม่เพียงแต่จะนำพาเสียงหัวเราะและรอยยิ้มอันสดใสของเด็กออกมา เวลาที่เด็กเล่นอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน และมีความสุขเท่านั้น แต่ยังช่วยทำให้เด็กมีสมาธิ สนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลึกซึ้ง ในขณะที่เด็กเอาจริงเอาจังกับการเล่นที่อยู่ตรงหน้าด้วย
ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านภาษา : การเล่นจะทำให้เด็กได้พูด หรือเล่าเรื่องราวต่างๆ ออกมาตามจินตนาการ ถ้าได้มีการพูดคุยกับเด็กบ่อยๆ อ่านหนังสือให้เด็กฟัง หรือให้เด็กได้คุยเล่นกับเพื่อนๆ จะช่วยพัฒนาภาษาของเด็กได้เป็นอย่างดี
ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านสังคม : การเล่นนอกจากจะสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ถ้าให้เด็กได้เล่นกับเพื่อน จะทำให้เด็กรู้จักการเรียนรู้ที่จะเล่นและอยู่ร่วมกับคนอื่นด้วย ทำให้เด็กรู้จักแบ่งปัน รู้จักการรอคอย รู้จักกฎ กติกา มีระเบียบวินัย และจะทำให้เด็กได้ค่อยๆ เรียนรู้กฎระเบียบกติกาของสังคมไปด้วย

th_whatsnew_howplay

023g-IMG_7832-copy การเล่นของเด็กเป็นวิธีการเรียนรู้อย่างหนึ่ง โดยธรรมชาติการเล่นของเด็กที่แท้จริงต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระทั้งทางกาย ความคิด และสังคม เด็กจะมีความสุขเมื่อได้เล่น โดยธรรมชาติแล้วเด็กต้องการเล่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเรียนรู้ตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยส่งเสริมพัฒนาการตามวัย ทำให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต รู้จักคิดเชื่อมโยงเหตุผลต่างๆ เข้าด้วยกัน การเล่นช่วยให้เด็กได้พัฒนาไปสู่วิธีการดำเนินชีวิตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ นำไปสู่การรู้จักรับผิดชอบต่อตนเอง เรียนรู้ระเบียบวินัย รู้จักควบคุมอารมณ์ และสามารถถ่ายทอดจินตนาการต่างๆ ออกมาได้เป็นอย่างดี

การเล่นของเด็กในช่วงขวบปีแรก มักจะเป็นการเล่นคนเดียว สำหรับเด็กโตประมาณ 2-3 ขวบจะเริ่มเล่นรวมกลุ่ม เมื่อเห็นเด็กคนอื่นเล่น ก็จะสนใจและเดินเข้ามาเล่นด้วย แต่เวลาเล่นกลับเล่นคนเดียว ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กัน ของเล่นของเด็กในวัยนี้จึงควรจะเป็นของเล่นที่ทำให้เด็กได้เริ่มใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่เข้ามาบ้าง เช่น การขีดเขียนของเล่นประเภทตอก เรียง เตะ หรือขว้าง เด็กในวัยนี้สามารถที่จะเรียงบล็อก ต่อภาพจิ๊กซอว์ และเล่นกับตุ๊กตาได้ เมื่อเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไปจะเริ่มเล่นเป็นกลุ่มแบบมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน เด็กวัยนี้จะชอบเล่นซุกซน วิ่งเล่น ปีนป่าย กระโดดในที่กว้าง วิ่งไล่จับ ขี่จักรยาน เล่นเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น แต่พอเมื่ออายุ 6 ขวบขึ้นไปจะเพิ่มการเล่นแบบเกมส์ซึ่งจะเริ่มมีกติกาเข้ามาด้วย เช่น หมากฮอส เกมเศรษฐี งูไต่บันได ซึ่งเด็กวัยนี้จะเริ่มเข้าใจกติกาการเล่นได้บ้างแล้ว เด็กจะสนใจการเล่นกีฬามากขึ้น เช่น ปิงปอง แบดมินตัน ฟุตบอล การเล่นในวัยนี้จะช่วยพัฒนาในเรื่องของการเข้าสังคมได้เป็นอย่างมาก

พ่อแม่มีบทบาทสำคัญที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็ก ทั้งการเลือกของเล่น จัดหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเล่น และเข้าใจความต้องการตามวัยของเด็ก เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรคำนึงถึงและสามารถช่วยเหลือเด็กได้โดย
ความเหมาะสมต่อพัฒนาการตามวัย : การเล่นต้องเหมาะกับระดับอายุและวัยของเด็ก เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเด็กไม่ควรเล่นกับของเล่นที่มีระดับความยากที่มากหรือน้อยจนเกินไป เมื่อเทียบกับวัยของเด็กเอง เพราะของเล่นที่ซับซ้อนและยากเกินความสามารถตามวัยของเด็กจะบั่นทอนกำลังใจและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในตัวเด็กเอง หรือหากมีระดับความง่ายจนเกินไป อาจทำให้การเล่นน่าเบื่อ เด็กขาดความสนใจ เกิดความรู้สึกว่าไม่ท้าทายความสามารถ ไม่เกิดแรงจูงใจในการเล่น จึงทำให้รู้สึกว่าการเล่นไม่ก่อให้เกิดความสนุกสนาน เด็กจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ โดยการเล่นผ่านทางประสาทสัมผัส การเล่นของเล่นทำให้เด็กได้สังเกตเห็นถึงความแตกต่างและความคล้ายคลึงกันของสิ่งต่างๆ ที่เล่น ได้เรียนรู้เรื่องรูปร่าง ขนาด ความหยาบ ความละเอียดของวัตถุนั้น ยิ่งถ้าให้เด็กได้ฝึกเล่นซ้ำๆ จนเกิดความชำนาญ จะช่วยให้เด็กสนุกสนาน มีความมั่นใจต่อสิ่งที่เล่น เข้าใจและรู้จักตนเองมากยิ่งขึ้นจากการที่ได้ค้นพบพัฒนาการของการเล่นไปตามศักยภาพของตนโดยไม่ได้รับแรงกระตุ้นมากเกินไป ของเล่นไม่ได้อยู่ที่ปริมาณ หรือราคา แต่อยู่ที่สิ่งที่เด็กจะได้รับจากการเล่น การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนของเล่นให้เด็กได้เล่นเป็นคราวๆ ไป โดยไม่จำเป็นต้องนำของเล่นมาให้เด็กเล่นครั้งละจำนวนมากๆ จะทำให้เด็กไม่เบื่อการเล่นของเล่นชิ้นนั้นเร็วเกินไป แต่จะตื่นตัวที่จะเรียนรู้ผ่านการเล่นของเล่นนั้นด้วยวิธีการใหม่ๆ แตกต่างไปจากเดิมในแต่ละครั้ง
สร้างทัศนคติที่เหมาะสม : พ่อแม่ควรเล่นกับเด็ก เพราะพ่อแม่มีส่วนอย่างมากในการส่งเสริม สนับสนุน แนะนำวิธีการเล่น และเป็นแบบอย่างให้เด็กเห็น การที่พ่อแม่ร่วมเล่นกับเด็กตั้งแต่แรกเกิด จะช่วยให้เด็กเล่นได้อย่างสร้างสรรค์และได้รับประโยชน์เต็มที่ มีจินตนาการ มีพัฒนาการอย่างถูกต้อง นอกจากที่เด็กจะได้รับความสุข ความสนุกสนานแล้ว การชี้แนะ การให้กำลังใจ และการชื่นชมจากพ่อแม่ นอกจากจะทำให้เด็กได้ซึมซับ เห็นตัวอย่างการเล่นที่เหมาะสม และเข้าใจวิธีการเล่นแล้ว ยังทำให้เด็กมีความภาคภูมิใจ ช่วยสร้างความใกล้ชิด ความผูกพัน มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่านการเล่นร่วมกันอีกด้วย
การจัดสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมที่น่าสนใจ : พ่อแม่ควรจัดสถานที่ให้เหมาะสม มีบรรยากาศที่สบายๆ มีการเลือกจัดมุมบริเวณสำหรับการเล่นและการออกกำลังกายเคลื่อนไหว เช่น การคืบคลาน การเกาะ การเดิน หรือการวิ่ง มีการจัดเตรียมอุปกรณ์สนับสนุนในการเล่น เช่น ของเล่น อุปกรณ์กีฬา มีระบบในการจัดเก็บและจัดหมวดหมู่ของเล่นที่เด็กสามารถจัดเก็บได้ด้วยตนเอง จะทำให้เด็กเล่นได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และส่งเสริมให้เด็กมีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบไปในตัว พ่อแม่ควรจัดให้มีกิจกรรมที่น่าสนใจให้เด็กสามารถเล่นและออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอทุกวัน การจัดหาของเล่นหรืออุปกรณ์การเล่นที่เด็กสนใจให้มีความเพียงพอและหลากหลาย จะเอื้อต่อการให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เต็มที่ เพื่อให้ร่างกายของเด็กมีการพัฒนาประสานกันได้อย่างสมดุลและแข็งแรงเป็นอย่างดี หากเด็กร่าเริง แจ่มใส สนุกสนานเพลิดเพลิน แสดงว่าการเล่นและการออกกำลังกายของเด็กอยู่ในระดับที่พอดีจะทำให้เด็กคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง กล้ามเนื้อแข็งแรง ฝึกความคิดสร้างสรรค์ และเรียนรู้การแก้ไขปัญหาได้ดี
ความปลอดภัย : ขณะที่เล่นควรปล่อยให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระโดยอยู่ในสายตาของพ่อแม่หรือผู้ใกล้ชิด ซึ่งต้องคอยดูแลในเรื่องความปลอดภัยของของเล่น สถานที่ที่จะอนุญาตให้เด็กเล่นจะต้องไม่เป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย เช่น บนที่สูง ถนน ใกล้แหล่งน้ำ เป็นต้น รวมทั้งต้องระมัดระวังการเล่นที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือการเล่นเลียนแบบที่อาจทำให้เด็กใช้ความรุนแรงได้ เช่น การเล่นโลดโผน เล่นอาวุธ และควรจะชี้แนะวิธีการเล่นของเด็กให้เป็นไปตามกติกา ถูกต้อง ปลอดภัย ไม่ให้เด็กแย่งของเล่นกัน อีกทั้งควรจะต้องมีการเก็บรักษาของเล่นอย่างเหมาะสม หากของเล่นชำรุดเสียหายเกินกว่าที่จะใช้งานได้ก็ควรจะทิ้งหรือเปลี่ยนใหม่
การเล่นที่เกิดประโยชน์สูงสุด : ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอย่างเสรีและพอเหมาะตามความคิดโดยอิสระ ความสนใจ และตามความสามารถของเด็ก ไม่ควรพยายามยัดเยียดให้เด็กเล่นตามสิ่งที่พ่อแม่เป็นผู้เลือกให้แต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะจะทำให้เด็กเครียด ไม่มั่นใจในตนเอง ไม่สนุกกับการเล่น กลัว ไม่กล้าคิดริเริ่มหรือคิดต่างจากคนอื่นๆ ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาสูงสุด เพราะการเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดจากผู้เรียนได้ค้นพบความรู้ด้วยการปฏิบัติจริง ไม่ใช่จากคำบอกกล่าวของผู้อื่น ถ้าเด็กทำสำเร็จได้ด้วยตัวเอง จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เป็นผลดีต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ และพัฒนาการในด้านอื่นๆ ตามมาเมื่อเด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่
การแบ่งปันกันเล่น : เด็กควรมีโอกาสเล่นกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันด้วย เพราะจะทำให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาในการอยู่ร่วมกับคนอื่นนอกบ้าน เรียนรู้ระเบียบและกฎกติกาของส่วนรวม กฎกติกาของการเล่น รวมทั้งได้เรียนรู้มารยาททางสังคมที่ดี ได้รับประสบการณ์ในการเรียนรู้ผ่านการเล่น รู้จักการแบ่งปันของเล่น รู้จักการผลัดกันเล่นของเล่น และรอคอยให้ถึงรอบการเล่นของตน รู้จักการให้อภัย ขอโทษ และการเสียสละ
การพักผ่อนเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ : หลังจากการเล่นและออกกำลังกายแล้ว ควรให้เด็กได้มีเวลาพักผ่อนอย่างเหมาะสมและเพียงพอ ซึ่งการนอนหลับเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เพราะในเวลาที่เด็กๆ นอนหลับสนิท ต่อมใต้สมองจะหลั่งโกรทฮอร์โมนออกมา ช่วยทำให้ร่างกายเจริญเติบโตสูงขึ้น การนอนที่ไม่เพียงพอจะส่งผลไปถึงการรับรู้ การทำความเข้าใจ การเรียนรู้สิ่งใหม่ การคิดแก้ปัญหา และความจำลดน้อยลง

th_whatsnew_toy

 

033e-IMG_5537-copy-1 ของเล่นเป็นสื่อที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และช่วยเติมเต็มความสนุกสนานอีกด้วย ตามความหมายของ มอก. ของเล่น หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบและทำให้เด็กเล่น แบ่งตาม U.S.Consumer Product Safety Commission Washington ได้ 5 กลุ่มด้วยกัน คือ
ของเล่นที่ให้เด็กได้ออกแรง (Active Play) : ของเล่นประเภทกีฬา เช่น ลูกบอล จักรยานสามล้อ อุปกรณ์ยิมนาสติก ไม้แบตมินตันสำหรับเด็ก ประโยชน์ คือ เสริมสร้างร่างกายและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
ของเล่นที่เด็กต้องสร้างขึ้นและควบคุมการเล่นเอง (Manipulative Play) : เป็นของเล่นที่เด็กสามารถต่อหรือประกอบให้เป็นรูปร่างได้ เช่น ตัวต่อ บล็อกไม้ จิ๊กซอว์ โมเดลหุ่นยนต์ หรือการก่อทราย ประโยชน์ คือ ฝึกกล้ามเนื้อมือ และช่วยฝึกทักษะทางด้านคณิตศาสตร์ เพราะเด็กจะต้องคำนวณให้มีฐานกว้างเพื่อที่ยอดด้านบนจะไม่ล้มลงมา
ของเล่นที่เลียนแบบของจริง (Make-Believe Play) : เป็นของเล่นบทบาทสมมติ เช่น ชุดจำลองอุปกรณ์ทำครัว ชุดเครื่องมือหมอ และชุดแต่งตัวตุ๊กตา ประโยชน์ คือ ฝึกทักษะให้เด็กได้ใช้ของเสมือนจริง เพื่อเติมเต็มจินตนาการ ทำให้การเล่นบทบาทสมมติของเด็กสมบูรณ์แบบมากขึ้น
ของเล่นส่งเสริมจินตนาการ (Creative Play) : ของเล่นประเภท สีน้ำ สีไม้ ดินน้ำมัน หรือเครื่องดนตรี ประโยชน์ คือ ส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก
ของเล่นเพื่อการเรียนรู้ (Learning Play) : ของเล่นเพื่อการพัฒนาทักษะ เช่น นิทาน หรือเกมส์ ประโยชน์ คือ ตอบสนองการเรียนรู้ที่ไม่หยุดยั้งของเด็ก พ่อแม่อาจจะต้องเล่นกับเด็กด้วยเพื่อให้จุดประสงค์ของของเล่นนั้นประสบผลสำเร็จ และไม่ควรเลือกของเล่นที่ยากเกินกว่าความเข้าใจของเด็กด้วย

หลักสำคัญในการเลือกของเล่นสำหรับเด็ก นอกจากจะเลือกของเล่นที่มีคุณภาพ ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็ก และมีราคาที่ไม่สูงมากเกินไปแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือเรื่องของความปลอดภัย ดังนั้นการเลือกซื้อของเล่นจึงควรพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
เป็นของเล่นที่มีความเหมาะสมต่อพัฒนาการและเหมาะกับวัยของเด็ก : ของเล่นเป็นสื่อหนึ่งที่จะทำให้เด็กได้รับความสนุกสนานและเกิดการเรียนรู้ควบคู่กันไป แต่เนื่องจากพัฒนาการของเด็กแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน การเล่นของเด็กในแต่ละวัยจึงมีความแตกต่างกันด้วย ดังนั้นจึงต้องเลือกของเล่นให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กตามแต่ละวัย โดยดูจากสัญลักษณ์อายุที่ระบุไว้ข้างกล่อง เพื่อให้ของเล่นที่เลือกนั้นได้ให้ประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด
เป็นของเล่นที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพทางการเรียนรู้ และมีประโยชน์รอบด้าน : เพื่อสร้างประสบการณ์การเล่นของเด็กให้มากกว่าการจำกัดการเล่นเฉพาะกับของเล่นชิ้นใดชิ้นหนึ่ง และทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้หลากหลาย จึงควรเป็นของเล่นที่ช่วยกระตุ้นความสนใจและดึงดูดให้เด็กอยากเล่นอยู่เสมอ ซึ่งเด็กอาจจะดัดแปลงไปเล่นกับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้
เป็นของเล่นที่มีมาตรฐานความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับ : โดยสังเกตได้จากเครื่องหมายตราสัญลักษณ์ว่าได้รับการตรวจสอบมาตรฐานและรับรองความปลอดภัยจากสถาบันที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว เช่น มอก. ASTM และ EN71
เป็นของเล่นที่มีความแข็งแรงทนทาน : ไม่ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนหรือวัสดุที่แตกหักง่าย ไม่มีมุมหรือเหลี่ยมคม น้ำหนักเหมาะสม และสามารถทำความสะอาดได้ง่าย ตัวกล่องบรรจุของเล่นต้องแข็งแรงและทนทาน เพื่อสามารถป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับของเล่น
ส่วนประกอบต้องมีความปลอดภัย : สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี เป็นวัยที่มักจะหยิบของใส่ปาก วัสดุที่นำมาเป็นส่วนประกอบในของเล่นต้องไม่เป็นชิ้นเล็กๆ ที่หลุดออกง่าย เพราะอาจจะเข้าไปติดคอและปิดกั้นการหายใจได้ สีและพลาสติกที่ใช้ต้องไม่เป็นพิษ คือ ไม่มีส่วนผสมของตะกั่ว ปรอท หรือสารโลหะหนักต่างๆ
หลีกเลี่ยงของเล่นที่ส่งเสริมการใช้ความรุนแรง มีเสียงดัง หรือเกิดมีความร้อนมากเกินไป : เป็นของเล่นที่อาจจะเป็นอันตรายต่อตัวเด็กเอง เพื่อนที่เล่นอยู่ด้วยกัน หรือผู้ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น ปืน หรือประทัดที่อันตรายและก่อเสียงดังทำลายหู รวมทั้งของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ที่่เกิดความร้อนจนเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย
มีคำอธิบายชัดเจน : บนกล่องของเล่นควรจะระบุถึงส่วนประกอบหรือวัสดุที่ใช้ทำของเล่น รวมไปถึงโรงงานที่ผลิต ถ้าเป็นของเล่นนำเข้า ต้องมีบริษัทหรือโรงงานที่นำเข้าของเล่นด้วย รวมทั้งควรจะมีคำอธิบายการเล่นและคำเตือนถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างละเอียดด้วย เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดและใช้งานผิดวัตถุประสงค์